ไข้หวัดใหญ่ รู้ทัน ป้องกันได้
อาการไข้หวัดใหญ่ จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไป คือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ หรือจาม และการสัมผัสมือ หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น เมื่อใช้มือมาขยี้ตา แคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายของเราได้โดยง่าย
ในสถานการณ์ปัจจุบัน การเสริมสร้างมาตรการป้องกันเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การล้างมือเป็นประจำ การสวมหน้ากากอนามัยในที่ชุมชน และการรับวัคซีนให้ครบถ้วน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
ไข้หวัดใหญ่ จะแสดงอาการโดยมี ไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ร่างกายอ่อนเพลีย อาจมีกล้ามเนื้ออักเสบ และอาการทางระบบหายใจ ตั้งเเต่นํ้ามูก ไอมาก หรือหากรุนเเรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
กลุ่มอายุที่มีอัตราการติดเชื้อสูงสุดคือเด็กอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และเด็กอายุ 10-14 ปี ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โรคหอบหืด จนทำให้มีอาการหอบเหนื่อย ดังนั้นหากสังเกตอาการที่รุนแรงกว่าปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที
การป้องกันที่จะช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่คือ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน ไม่เอามือขยี้ตาแคะจมูกหรือเอามือเข้าปาก ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น ควรแยกเด็กที่เป็นไข้หวัดออกจากเด็กคนอื่นๆ เพื่อป้องกันการติดไข้หวัดระหว่างกัน ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่รุนแรงได้โดยการให้เด็กได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป เพียงเท่านี้ก็จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้
ข้อมูลจาก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี